ในปี 2023 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศต่างๆล้วนแล้วแต่มีโครงการอวกาศใหม่ๆที่ออกมาแข่งขันกันอย่างน่าสนใจเริ่มจากบริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ที่จะมี 2 โครงการ ใหญ่เป็นจุดเด่นของปีออกมาให้ตื่นเต้นกัน ซึ่งโครงการแรกคือ ‘โพลาริส ดอว์น’ ที่จะส่งชาวอเมริกันที่เป็นบุคคลธรรมดา 4 คน แบ่งเป็น ชาย 2 หญิง 2 ขึ้นไปโดยโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 5 วัน กับยานลูกเรือดรากอนและในส่วนโครงการที่ 2 มีการพัฒนาก้าวไปไกลกว่าเดิมมากนั่นคือการส่งมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่มีชื่อว่า ยูซากุ มาเอซาวา” (前澤 友作) พร้อมกับผู้โดยสารที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพิเศษอีก 6-8 คน ที่จะได้ไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานอวกาศ ‘สตาร์ชิป’ ซึ่งถือเป็นยานอวกาศในฝันของใคร หลายๆคนรวมถึงยังเป็นลูกรักของอีลอน มัสก์ โดยทาง SpaceX ตั้งชื่อโครงการนี้ไว้อย่างน่ารักว่า Dear Moon
ทาง NASA เองซึ่งเป็นภาครัฐก็ได้มีการจัดส่งยานอวกาศ ‘ไซคี’ เดินทางไป สำรวจดาวเคราะห์น้อยโลหะที่มีชื่อเดียวกับตัวยานนั่นคือ ‘16 Psyche’ เหตุที่เลือกดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก็เพราะเป็นดาวเคราะห์ที่สนใจของผู้ติดตามข่าวมาระยะหนึ่งแล้วด้วยการที่มันถูกวิเคราะห์เอาไว้ว่าน่าจะมีองค์ประกอบเป็นโลหะมีค่าเกือบทั้งดวงทำให้นักวิทยาศาสตร์บางรายได้จินตนาการไปไกลถึงขั้นว่าอาจพบแร่ทองคำปริมาณมากมหาศาลที่นั่นเลยทีเดียวและรวมถึงการส่งยานไปสำรวจของ NASA ก็เหมือนจะไปจับจองดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก่อนใครๆ
ทางฝั่งองค์การ อวกาศยุโรปหรือ ESA ก็ไม่ได้ยอมน้อยหน้า ได้ทำการกระโดดเข้า ร่วมการแข่งขันด้วยการเดินทาง ระยะไกลตรงสู่ดาวพฤหัสบดีกับโครงการ JUpiter ICy moons Explorer ที่เอาชื่อย่อของโครงการนั่นคือ ‘JUICE’ มาตั้งเป็นชื่อยาน โดยโครงการนี้เป็นโครงการ 8 ปีที่เน้นไปที่การ สำรวจชีวิตต่างภพที่อาจเป็นจุลชีพภายใต้ชั้นน้ำแข็งของดวงจันทร์ในกลุ่มกาลิเลียนของดาวพฤหัสบดีทั้ง 3 ดวง อันได้แก่ ดวงจันทร์แกนีมีด ดวงจันทร์คัลลิสโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งดวงจันทร์ยูโรปาที่ประเมินกันว่าน่าจะมีโอกาสได้พบสิ่งมีชีวิตในน้ำทะเลที่ยังคงไหลไปมาใต้ชั้นน้ำแข็งของดวงจันทร์ดวงนี้มากกว่าสถานีที่แห่งใดในระบบสุริยะนอกจากโลกของเรา
แน่นอนว่าทางองค์การอวกาศจีนหรือที่มีชื่อว่า CASC ก็ไม่น้อยหน้าในสนามแข่งขันนี้ ทำให้หลังจากที่ระดมส่งโมดูลต่างๆ ขึ้นไปประกอบ และเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกงจนเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วในปี 2022 พอเข้าสู่ช่วงปี 2023 ทางการจีนจะมีการส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ นำขึ้นไปติดตั้งเพิ่มเติม และเมื่อมาถึงปลายปี 2023 จีนวางแผนไว้ว่าจะปล่อยยานอวกาศลำสำคัญนั่นคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘ฉวินเทียน’ (巡天) ที่มีความหมายถึง ‘ผู้เฝ้าระวังแห่งฟากฟ้า’ ซึ่งจะใช้เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศหลักในการสำรวจอวกาศของจีน ที่จะรู้จักกันในชื่อสากลว่า CSST (Chinese Survey Space Telescope) กล้องตัวนี้จะทำการติดตั้งกระจกปฐมภูมิขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร (6.6 ฟุต)
ที่คาดว่าจะมีขอบเขตการ มองเห็นห้วงอวกาศระดับลึก ที่ใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศปกติของฮับเบิล NASA ไม่น้อยกว่า 300 เท่า โดยขั้นต้น จีนจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ขึ้นไปต่อ เชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงเอาไว้ก่อน จนเมื่อพร้อมจะ แยกตัวออกปฏิบัติหน้าที่จริงในปี 2024ถัดจากมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ด้านอวกาศก็มาถึงมหาอำนาจหน้าใหม่ในด้านนี้อย่างประเทศอินเดียที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 จะมีการส่งยาน ‘อาทิตย์’ ขึ้นไปสู่วงโคจร ยานลำนี้จะทำหน้าที่หลักในการสังเกตการณ์ปฏิกิริยาต่างๆของดวงอาทิตย์ตามชื่อของยาน
โดยจะถูกส่ง ไปโคจรที่จุดสมดุลของแรงโน้มถ่วงที่ 1 หรือ Lagrange Point L1 เพื่อให้ตัวยานหันหน้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลาโดยไม่ต้องใช้พลังงานใดๆเพิ่มในการทรงตัวเพื่อให้สามารถถ่ายภาพพร้อมตรวจวัดค่าต่างๆ ในชั้นบรรยากาศโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ทุกเวลาที่ต้องการซึ่งทางองค์การอวกาศอินเดียหรือ ISRO ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กและปริมาณรังสีเอ็กซ์เอาไว้ด้วยเพื่อจับปฏิกิริยาของจุดมืดต่างๆในวัฏจักรสุริยะปัจจุบัน
นอกจากยานสำรวจดวงอาทิตย์แล้ว ทาง ISRO ยังจะทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ลบรอยแค้น’ นั่นคือการแก้ตัวจากความล้มเหลวในนาทีสุดท้ายระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์ของ ‘จันทรายาน-2’ เมื่อปี 2019 โดยในช่วงกลางปี 2023 ทาง ISRO ได้มีแผนการจะส่งยานฝาแฝด ‘จันทรายาน-3’ ไปทำหน้าที่นี้และคาดหวังความสำเร็จไว้ค่อนข้างมาก ยานแลนเดอร์ ‘จันทรายาน-3’ จะถูกตัดส่วนของยานโคจรออกไปและแก้ไขเครื่องยนต์ขับดันระหว่างการลงจอดของยานแลนเดอร์อีกเล็กน้อยในลำตัวยานแลนเดอร์ยังมีการออกแบบให้เก็บยานโรเวอร์ขนาดเล็กไว้ตามแบบเดิมของยานฝาแฝดรุ่นพี่หากยานสามารถลงจอดได้สำเร็จก็จะมีการปล่อยโรเวอร์ติดล้อออกมาวิ่งสำรวจผิวดวงจันทร์ตามแผนการที่วางเอาไว้
บริษัทเอกชนระดับสตาร์ทอัพก็มีหลายแห่งที่ต้องการจะมีผลงานในปี 2023 เช่นกันแม้ว่าผลสำเร็จอาจมีโอกาสไม่สูงเท่าบริษัทขนาดใหญ่หรือภาครัฐของประเทศมหาอำนาจทางอวกาศทั้งหลายยกตัวอย่างเช่นบริษัท Intuitive Machines ที่ชนะการประกวดสัญญากับทาง NASA ก็มีแผนที่จะส่งยาน Nova-C Lander ไปลงจอดที่บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์เพื่อส่งข้อมูลกลับสู่โลกด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์สุดล้ำของ NASA